วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ธิดาแรงงานเกียรติยศปีนี้คือ นางฟ้าแห่งสะพานพุทธ

เพราะเห็นความสำคัญของ "คุณค่า" ที่อยู่เหนือความงามซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่จีรังยั่งยืน และเทียบไม่ได้กับความดีงามของจิตใจ ทุกปี ในการประกวด "ธิดาแรงงาน" จะมีการมอบตำแหน่งพิเศษ "ธิดาแรงงานเกียรติยศ" ให้กับสตรีผู้อุทิศตนทำงานเพื่อสังคม โดยสตรีผู้ได้รับรางวัล ไม่จำเป็นต้องสวย รวย การศึกษาสูง หากเธอกลับได้รับการยกย่องให้เป็น "นางฟ้าใจดี" 

ในปี 2556 นี้ มีผู้หญิงใจสวยเข้าชิงตำแหน่ง 3 คน ประกอบด้วย นริศราภรณ์ อสิพงษ์ ครูข้างถนนของเด็กๆ ที่ได้รับการขนานนามว่า "นางฟ้าแห่งสะพานพุทธ", นิดา รสรื่น หรือป้านิด ผู้หญิงที่มีทุกลมหายใจเพื่อสุนัขจรจัด และปางธาราไพร นราพงศ์พุทธ์ หรือหมอณา พอเพียง พยาบาลผู้บูรณาการศาสตร์ธรรมชาติรักษาโลก 


ผู้หญิงทั้งสามคนนั้น ล้วนมีประวัติการทำงานที่น่ายกย่อง หากมีเพียงหนึ่งเดียวที่ชนะใจกรรมการ โดยผู้ได้รับตำแหน่ง "ธิดาแรงงานเกียติยศ ประจำปี 2556" ได้แก่ "นางฟ้าแห่งสะพานพุทธ" ของเด็กด้อยโอกาส 

"ครูนาง" นริศราภรณ์ อสิพงษ์ หัวหน้าแผนกครูข้างถนน แห่งมูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคลในพระอุปถัมภ์ หรือศูนย์เมอร์ซี่ บอกว่า เธอคลุกคลีกับเด็กเร่ร่อนย่านสะพานพุทธมากว่า 10 ปี 
  "สิ่งที่เรามักจะบอกเด็กอยู่เสมอ คือ เราบอกว่า เราเป็นห่วง รักเหมือนลูก เรื่องยาเสพติดเลิกได้ ก็เลิกซะ บอกไปเรื่อยๆ เขาอาจเชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง มันเป็นเรื่องที่ตัวเขาจะตัดสินเอง เด็กเหล่านี้ ส่วนใหญ่มีปัญหาทางบ้าน ซึ่งเราคิดว่า บางทีการบอกให้เขากลับบ้านมันไม่จำเป็นที่สุด เพราะเมื่อกลับไป เขาก็ยังเจอปัญหาเดิมๆ แล้วก็กลับมาอีก ฉะนั้นก็พยายามหาทางออกอื่นให้ เช่น หาที่เรียนให้ หาที่ที่
เหมาะสมให้เขาอยู่ หรือถ้าโตแล้วก็ให้ไปทำงาน"
                                                                             
    
ครูนาง เล่าอีกว่า การทำงานกับเด็กเร่ร่อนไม่มีหลักสูตรตายตัว เด็กจะหลุดพ้นจากวิถีชีวิตของการเร่ร่อนหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับชีวิตของเด็กคนนั้น 

"เด็กบางคน แค่เราสัมผัสเขานิดเดียว ก็สามารถหลุดพ้นจากชีวิตตรงนี้ได้ แต่บางคนทำนานแค่ไหน ก็ยังไกลอยู่ ถามว่าท้อมั้ย ถ้าท้อก็ให้กำลังใจตัวเอง บางครั้งเคยแกล้งพูดกับเด็กเวลาดื้อๆ ว่า จะไม่มา ไม่ทำแล้ว เด็กก็บอกว่า ไม่อยากให้เราไป ถ้าเราไปใครจะช่วยเขา บอกว่าเราเหมือนแม่ คำพูดตรงนี้ก็ให้กำลังใจเราด้วย เด็กกลุ่มนี้ไม่ได้รับรักแท้จากพ่อแม่หรือคนที่เขารัก จึงต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้" 

ป้านิด ผู้หญิงที่มีทุกลมหายใจเพื่อสุนัขจรจัด
แม้สังคมไทยจะมองว่าเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กเหลือขอ แต่ครูนางอยากขอโอกาสสังคมให้เข้าใจและยื่นมือเข้าช่วยเหลือเด็กๆ กลุ่มนี้

"เด็กแต่ละคนก็เป็นเยาวชนของไทย เป็นมนุษย์คนหนึ่ง เราควรหันมาร่วมกันช่วยให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น ดีกว่ามองว่าพวกเขาเป็นปัญหาสังคม" 

สำหรับครูนาง เธอตั้งใจว่าจะทำงานตรงนี้ต่อไป แม้เงินเดือนจะไม่มากมาย หากการได้ช่วยให้เด็กหลุดพ้นจากวงจรชีวิตเร่ร่อนได้ เธอก็ยินดีจะทำต่อไปอย่างมีความสุข

ภาพและข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น