วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พบวิธีการทำให้"คนเป็นอัมพาต"เดินได้อีกครั้ง


เทคนิคใหม่ในทางการแพทย์ที่นำมาใช้จนได้ผลในการทำให้ผู้ป่วยอัมพาตท่อนล่างโดยสิ้นเชิงสามารถกลับมาเดินและใช้ชีวิตตามปกติได้อีกครั้งหนึ่งนี้เป็นผลงานของทีมแพทย์ภายใต้การนำของเจฟฟรีย์ เรสแมน ศาสตราจารย์ประจำสถาบันประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอนส์ (ยูซีแอล)
กระบวนการเยียวยาแบบใหม่ซึ่งถูกรายงานไว้ในวารสารการปลูกถ่ายเซลล์ครั้งนี้ เป็นการนำเอา เซลล์เส้นประสาทรับกลิ่น (ออลแฟคทอรี เอนชีธติ้ง เซลล์-โออีซี) จากจมูกของผู้ป่วยเองมาปลูกถ่ายให้ทำหน้าที่เป็นเหมือน "สะพานเส้นประสาท" เพื่อเชื่อมต่อระหว่างส่วนของกระดูกสันหลังที่ถูกตัดขาดออกจากกันของผู้ป่วย ซึ่งศาสตราจารย์เรสแมนเชื่อว่า หากได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง จะกลายเป็นกรรมวิธีที่จะพลิกโฉมหน้าของชีวิตผู้ป่วยอัมพาตที่เกิดจากอาการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง ที่ตอนนี้ไม่มีหวังให้กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้งหนึ่ง

การผ่าตัดปลูกถ่ายเซลล์ประสาทจนประสบความสำเร็จดังกล่าวเป็นการทดลองในผู้ป่วยอาสาสมัครวัย38 ปี ชาวโปแลนด์ ชื่อ ดาเรค ฟิดีกา ที่ถูกแทงบริเวณกระดูกสันหลังจนเป็นอัมพาตท่อนล่างเมื่อปี 2010 ทีมวิจัยใช้วิธีการดังกล่าวรักษาฟิดีกาต่อเนื่องเป็นเวลา 19 เดือน ภายใต้การสนับสนุนทางการเงินจา มูลนิธินิโคลส์เพื่อผู้ได้รับบาดเจ็บบริเวณไขสันหนัง หลังจากนั้นผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวบางส่วนได้เอง และขาบางส่วนเกิดความรู้สึกได้อีกครั้ง และยังคงฟื้นฟูสภาพร่างกายได้มากกว่าที่คาดหมายไว้อย่างต่อเนื่อง จนขณะนี้สามารถขับรถและใช้ชีวิตอย่างเป็นอิสระ ไม่จำเป็นต้องมีผู้ช่วยเหลือได้

ศาสตราจารย์เรสแมน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญอาการกระดูกสันหลังได้รับบาดเจ็บจากยูซีแอล ทำงานร่วมกับทีมศัลยแพทย์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยโวรคอฟ จัดการผ่าตัดนำเซลล์ประสาทรับกลิ่น (โออีซี) ของฟิดีกาออกมาจาก ส่วนของสมองที่เรียกว่า "ออลแฟคทอรี บัลบ์" ที่อยู่ด้านหน้าสุดของสมองส่วนหน้าเหนือจากช่องจมูกขึ้นไปเล็กน้อยและเป็นศูนย์รวมของประสาทรับกลิ่นของคนเราบวกกับเซลล์สร้างเส้นใยเส้นประสาทรับกลิ่น(ออลแฟคทอรี เนิฟ ไฟโบรบลาสต์-โอเอ็นเอฟ) ซึ่งเป็นกลุ่มเส้นประสาทที่โยงจากช่องจมูกไปยังกลุ่มเซลล์ประสาทรับกลิ่น นำไปปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยในบริเวณที่เส้นประสาทไขสันหลังเสียหาย โดยใช้ปลูกถ่ายเป็น "สะพาน"ระหว่างส่วนของกระดูกไขสันหลัง 2 ส่วนซึ่งถูกตัดขาดจากกันด้วยคมมีด

เส้นประสาทที่ถูกนำออกมานั้น จะถูกแทนที่ด้วยเส้นประสาทใหม่ซึ่งจะงอกเข้าหาศูนย์รับกลิ่นของสมอง หรือ "ออลแฟคทอรี บัลบ์" อีกครั้ง โดยทีมแพทย์ช่วยเสริมกระบวนการดังกล่าวด้วยการเปิดช่องที่ "ออลแฟคทอรี บัลบ์" เพื่อให้เส้นประสาทใหม่ได้เชื่อมต่อเข้าไป ทีมวิจัยเชื่อว่า การปลูกถ่ายเซลล์ประสาทรับกลิ่น (โออีซี) เข้าไปยังบริเวณที่ไขสันหลังเสียหายจะช่วยให้เส้นใยประสาทที่เสียหายอย่างหนักสามารถเติบโตใหม่ได้อีกครั้ง

ศาสตราจารย์เรสแมนชี้ว่าดูเหมือนโออีซีและโอเอ็นเอฟจะทำงานร่วมกันแต่กลไกลที่ทำให้เซลล์ประสาทรับกลิ่นและเส้นประสาทรับกลิ่้นมีปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันนั้นยังไม่เป็นที่แน่ชัด

ผู้เชี่ยวชาญซึ่งตรวจสอบรายงานดังกล่าวแต่ไม่ได้เกี่ยวข้องอยู่กับการศึกษาวิจัยโดยตรงชี้ว่าผลลัพธ์ดังกล่าวถือว่าสร้างความหวังใหม่ขึ้น โดยต้องมีการศึกษามากขึ้นต่อไปว่า เพราะเหตุใดการทดลองครั้งนี้จึงประสบผล และจำเป็นต้องใช้กรรมวิธีนี้กับผู้ป่วยมากคนขึ้นเพื่อให้การประเมินผล ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

ทั้งนี้ ทีมวิจัยเตรียมดำเนินการแบบเดียวกันนี้ต่อผู้ป่วยอัมพาตอีก 5 คนในอีก 3-5 ปีข้างหน้าเพื่อการศึกษาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องต่อไป

ก็ขอให้การวิจัยนี้สำเร็จกับคนไข้ทุกคนโดยเร็วเพื่อที่คนที่เป็นอัมพาตจะได้ลุกขึ้นมาดำเนินชีวิตเหมือนคนปกติได้ จะเป็นสิ่งที่วิเศษที่สุด

ภาพและข้อมูลจาก http://www.matichon.co.th/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น