วันจันทร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

ม.นเรศวรเจ๋ง!! คิดค้น “ครีมเทียมผงจากรำข้าว”ได้แล้ว


ถ้าจะกล่าวถึงเครื่องดื่มที่มีชื่อว่า “กาแฟ” คงจะไม่มีใครไม่รู้จัก เพราะตั้งแต่ เด็กจนถึงวัยรุ่น ก็คงเคยเห็นพ่อ-แม่ หรือว่าญาติผู้ใหญ่ตื่นเช้ามาก็เดินเข้าครัว หยิบถ้วยเครื่องดื่มก่อนที่จะใส่ผงกาแฟ แล้วกดน้ำก่อนที่จะใส่นมลงไป ก่อนที่จะใช้ช้อนคนแล้วก็มานั่งดูข่าวอยู่หน้าทีวีพร้อมกับจิบกาแฟถ้วยโปรด หรือหยิบหนังสือพิมพ์ที่มาส่งทุกเช้านั่งอ่านไปจิบกาแฟไป แต่ในปัจจุบันนี้มีผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำมาใช้แทนนมข้นที่ชงผสมกับกาแฟ หรือชาได้แล้ว เราคงรู้จักกันในชื่อตามท้องตลาดว่า คอฟฟี่เมต หรือครีมเทียม ซึ่งในวันนี้เราจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จัก “ครีมเทียมน้ำมันรำข้าว” ที่เป็นผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดของทาง มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก ที่สามารถทำการวิจัยและผลิตครีมเทียมน้ำมันรำข้าวขึ้นมาจนมีรสชาติไม่ต่างจากครีมเทียมแบบทั่ว ๆ ไป 
“ครีมเทียมจากน้ำมันรำข้าว” ผลงานวิจัยชิ้นล่าสุดจาก ภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าทอง อ.เมือง จ.พิษณุโลก โดยคณะทีมวิจัยในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผศ.ดร.เหรียญทอง สิงห์จานุสงค์ อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร ผศ.ดร.ปวีนา น้อยทัพ ผู้ช่วยวิจัย และนิสิตปริญญาเอกจำนวน 4 คน คือ นายคุณากร ขัติศรี, น.ส.สุริยาพร นิพรรัมย์, น.ส.วาธิณี เมนฑกุล และ น.ส.นิภาวรรณ แพทย์ไชยโย ได้ใช้ระยะเวลาวิจัยและพัฒนาจากน้ำมันรำข้าว ตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบัน จนสามารถทดลองจนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ “ครีมเทียมน้ำมันรำข้าว” ชนิดต่างๆ คือ ครีมเทียมผงจากน้ำมันรำข้าวบีบเย็นแบบผง และครีมเทียมน้ำมันรำข้าวแบบเหลว ซึ่งมีทั้งแบบครีมเทียมน้ำมันรำข้าวไขมันเต็ม (ธรรมดาทั่วไป) และครีมเทียมน้ำมันรำข้าว ชนิดพร่องไขมัน และทางทีมคณะวิจัยยังสามารถผลิต ผลิตภัณฑ์ตัวใหม่เพิ่มขึ้นมาใหม่คือ น้ำสลัดจากน้ำมันรำข้าวชนิดผง น้ำสลัดผสมข้าวกล้องหอมนิล และน้ำมายองเนส จากน้ำมันรำข้าวบีบเย็น ส่วนในเรื่องของคุณค่าทางอาหารนั้นทั้งช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และชะลอความแก่ เนื่องจากน้ำมันรำข้าวบีบเย็น มีสารต้านอนุมูลอิสระธรรมชาติ (natural antioxidants) หรือสารพฤกษเคมี (phytochemicals) นอกจากนี้ ยังมีกรดไขมันอิ่มตัวเชิงเดี่ยวที่มีบทบาทช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ สารพฤกษเคมีดังกล่าวนี้พบในน้ำมันรำข้าวบีบเย็นในปริมาณที่สูงมากกว่าที่พบในน้ำมันรำข้าวที่ผ่านกระบวนการ อีกทั้งยังมี วิตามินอี ทั้งโทโคฟีรอลและโทโคไตรอีนอล, แกมมา-โอรีซานอล, กรดไขมันจำเป็น, ไฟโตสเตียรอล, เซราไมด์, สควอลีน, เมลาโทนินและฟอสโฟลิปิด ซึ่งสารอาหาร ซึ่งวิตามินและสารอาหารต่าง ๆ มีบทบาทและทำหน้าที่ของสาระสำคัญที่ช่วยชะลอความแก่ คือ ต้านอนุมูลอิสระ, บำรุงผิวพรรณให้นุ่มนวลและอ่อนเยาว์, ลบเลือนริ้วรอยเหี่ยวย่น ด่างดำ ฝ้า และกระ, ช่วยให้นอนหลับสบาย, ลดอาการเครียด, บำรุงสมอง, รักษาสมดุลของระบบประสาท และปรับสมดุลของระบบสตรีวัยทอง
ด้าน ผศ.ดร.เหรียญทอง กล่าวว่าจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากรำข้าว ซึ่งถือเป็นวัสดุที่เหลือทิ้งจากกระบวนการสีข้าว โดยทางเราได้ศึกษากระบวนการผลิตครีมเทียมผงจากน้ำมันรำข้าวบีบเย็นเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับรำข้าวและเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้บริโภคเครื่องดื่มประเภทกาแฟและชาที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งครีมเทียมส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่กำลังวางจำหน่ายในท้องตลาดอยู่ในปัจจุบันนั้นซึ่งเป็นครีมเทียมที่ทำมาจากน้ำมันปาล์มและน้ำมันมะพร้าว ซึ่งมีปริมาณกรดไขมันอิ่มตัวสูง (50% และ 90% ตามลำดับ) ในขณะที่ผลงานการวิจัยในครั้งนี้ที่สามารถผลิต “ครีมเทียมน้ำมันรำข้าว” ที่มีปริมาณของ กรดไขมันอิ่มตัวต่ำ (15-20%) ซึ่งกรดไขมันอิ่มตัวนี้ ถ้าบริโภคในปริมาณมากก็จะเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ และโรคมะเร็งได้ นอกจากนี้น้ำมันปาล์ม ที่เป็นส่วนประกอบในครีมเทียมทั่วไปนั้นต้องนำเข้าจากต่างประเทศรวมมูลค่าหลายล้านบาทต่อปี ในขณะที่รำข้าว สามารถผลิตเองในประเทศไทยปีละ 2-5 ล้านตัน ดังนั้นถ้าเรานำน้ำมันรำข้าวมาใช้ทดแทนน้ำมันปาล์มได้ก็จะเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันปาล์ม อีกทั้งเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่จากรำข้าวด้วย
โดยกระบวนการผลิต “ครีมเทียมผงจากน้ำมันรำข้าว” ได้นำน้ำมันรำข้าวบีบเย็นมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตครีมเทียมผงแทนน้ำมันปาล์ม โดยครีมเทียมผงจากน้ำมันรำข้าวบีบเย็นมีคุณสมบัติทางเคมี กายภาพ และประสาทสัมผัสเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งคล้ายคลึงกับครีมเทียมผงที่มีวางจำหน่ายทางการค้า และสามารถนำมาทดแทนได้ อีกทั้งครีมเทียมผงจากน้ำมันรำข้าวบีบเย็น มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่าน้ำมันปาล์ม เนื่องจากครีมเทียมน้ำมันรำข้าวไม่ต้องผ่านกระบวนการใช้ความร้อนและสารเคมี จึงมีสารอาหารที่สำคัญ โดยเฉพาะสารต้านอนุมูลอิสระคงอยู่ในปริมาณสูง ทั้งนี้ผลงานวิจัย “ครีมเทียมผงจากน้ำมันรำข้าวบีบเย็น” ได้จดอนุสิทธิบัตรแล้ว และได้มีการต่อยอดการผลิตครีมเทียมผงและครีมเทียมเหลวแบบธรรมดา และแบบพร่องไขมันจากน้ำมันรำข้าวบีบเย็นและน้ำมันรำข้าวที่ผ่านกรรมวิธี เตรียมต่อยอดเชิงพาณิชย์เพื่อพัฒนาสู่การผลิตในระดับอุตสาหกรรมต่อไป โดยผลงานวิจัยในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
จากการวิจัยในครั้งนี้จนสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ “ครีมเทียมน้ำมันรำข้าว” ของภาควิชาอุตสาหกรรมเกษตร คณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหา วิทยาลัยนเรศวร หากได้รับการต่อยอดพัฒนาสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรมเพื่อผลิต “ครีมเทียมน้ำมันรำข้าว” มากขึ้นและเพียงพอต่อความต้องการของผู้ที่ชอบบริโภคเครื่องดื่มประเภทกาแฟและชาแล้ว นี่ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะลดการนำเข้าน้ำมันปาล์มของประเทศเรา และที่สำคัญยังช่วยให้ผู้ที่บริโภค “ครีมเทียมน้ำมันรำข้าว” ได้รับคุณค่าทางสารอาหารอย่างแน่นอน ดังที่ทีมคณะวิจัยได้ตั้งไว้ว่า “น้ำมันรำข้าวบีบเย็น เพิ่มมูลค่า ลดความเสี่ยงต่อหัวใจ และชะลอความแก่”.
ภาพและข้อมูลโดย จีรศักดิ์ ปิ่นทอง จาก http://www.dailynews.co.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น