วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

ผลวิจัยชี้ ความขี้เกียจ มันอยู่ใน ยีน


ผลงานวิจัยล่าสุดของทีมศึกษาวิจัยจากคอลเลจ ออฟ เวเทอรินารี เมดิซีน แห่งมหาวิทยาลัยมิสซูรี สหรัฐอเมริกา อาจช่วยอธิบายได้ว่า เพราะเหตุใด คนบางคนถึงมีความกระตือรือร้นในทุกสิ่งทุกอย่าง ตรงกันข้ามกับอีกบางคนที่เฉื่อย เนือย ขี้เกียจไปเสียทุกอย่างตลอดเวลา

นักวิทยาศาสตร์ทีมนี้ ศึกษาวิจัยโดยใช้วิธีการทดลองและจดบันทึกจากหนูทดลอง ด้วยการนำหนูจำนวนหนึ่งมาปล่อยไว้ในกรงที่มีกงล้อหรือจักรไว้ให้มันวิ่งออกกำลังอยู่ด้วย จากนั้นก็บันทึกระยะเวลาที่หนูแต่ละตัวใช้ในการวิ่งกับกงล้อในช่วงระยะเวลา 6 วัน แล้วนำเอาหนูที่ "ขยัน" ที่สุด คือที่ใช้เวลาวิ่งบนกงล้อนานที่สุด 26 ตัว มาจับคู่ผสมพันธุ์กัน ในเวลาเดียวกันก็นำหนูที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในการวิ่งกงล้อ 26 ตัวมาจับคู่ผสมพันธุ์กันเอง ทำซ้ำเช่นนี้เพื่อการคัดสายพันธุ์ต่อเนื่องตลอด 10 เจเนอเรชั่นของหนู แล้วนำเอาหนูที่ได้มาทดลองวิ่งกงล้ออีกครั้ง ทีมวิจัยพบว่า หนูในสายพันธุ์ "ขยัน" วิ่งกงล้อมากกว่าหนูในสายพันธุ์ "ขี้เกียจ" มากถึง 10 เท่า

ทีมวิจัยพยายามหาเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังความแตกต่างดังกล่าว โดยการเปรียบเทียบ "ไมโตคอนเดรีย" หรือ โครงสร้างสำหรับสร้างพลังงานของเซลล์ในเซลล์กล้ามเนื้อของหนูทั้งสองสายพันธุ์ โดยใช้การเปรียบเทียบคุณลักษณะทั้งในเชิงกายภาพและในทางพันธุกรรม

ไมเคิล โรเบิร์ตส์ หนึ่งในทีมวิจัย พบว่ามีความแตกต่างกันน้อยมากในแง่ขององค์ประกอบทางร่างกายของหนูสองสายพันธุ์ดังกล่าว เช่นเดียวกันกับความแตกต่างของไมโตคอนเดรีย แต่ที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างหนูทั้งสองสายพันธุ์ก็คือ ความแตกต่างของยีนซึ่งเป็นคุณลักษณะทางพันธุกรรม เมื่อตรวจสอบรหัสพันธุกรรมในส่วนของสมอง พบว่าในบรรดากว่า 17,000 ยีนของสมองส่วนหนึ่ง มียีนมากถึง 36 ตัว ที่เชื่อว่าเป็นตัวกำหนดแรงกระจูงใจในการทำกิจกรรมของร่างกายไว้ล่วงหน้า

ผลการวิจัยดังกล่าวนี้สอดคล้องกับงานวิจัยเมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา ของ ดร.เกรกอรี สไตน์เบิร์ก ของมหาวิทยาลัยแม็คมาสเตอร์ ซึ่งค้นพบยีน 2 ตัวของหนูทดลองที่เมื่อปิดการทำงานของมันไป หนูที่กระตือรือร้นจะกลายเป็นหนูขี้เกียจไปในทันที

ทีมวิจัยของไมเคิล โรเบิร์ต เตรียมศึกษาวิจัยต่อเพื่อจำแนกให้ได้ว่า ยีนตัวใดที่เป็นตัวกำหนดแรงจูงใจให้หนูออกกำลัง (ด้วยการวิ่งวงล้อ) หลังจากนั้นจะนำผลการศึกษาในหนูไปเทียบเคียงกับผลการศึกษาในมนุษย์ต่อไป ภายใต้สมมติฐานที่ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่มนุษย์เราเองก็มียีนที่เป็นตัวกำหนดความขี้เกียจไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกัน และหากเป็นเช่นนั้นจริงและทีมวิจัยสามารถจำแนกยีนขยัน ยีนขี้เกียจในมนุษย์ได้ ก็จะสามารถนำมาประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาสุขภาพหลายๆ อย่างของคนเราได้ อย่างเช่น ภาวะโรคอ้วน จากการไม่ออกกำลังกาย, โรคที่ก่อให้เกิดปัญหากับการเจริญเติบโตโดยเฉพาะในเด็กๆ เป็นต้น

ข้อมูลจาก http://www.prachachat.net
ภาพจาก อินเทอเน็ต

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น