วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

แพทย์ไทยสุดเจ๋ง! ต่อยอดใช้ยามะเร็ง รักษาเบาหวาน

    แพทย์ไทยสุดเจ๋ง!ต่อยอดใช้"ยามะเร็ง"รักษา"เบาหวาน" ไม่ต้องตัดอวัยวะทิ้ง สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก 

              ศูนย์การแพทย์"มศว"เจ๋ง วิจัยต่อยอดการใช้ยามะเร็ง รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ต้องตัดนิ้วมือ-เท้า-แขน-ขาสำเร็จครั้งแรกของโลก ใช้ยากระตุ้นเม็ดเลือดขาวให้แข็งแรง กินเชื้อโรค-เนื้อตาย พร้อมสร้างงอกใหม่ หายใน 2 เดือน

              ผศ.นพ. ณรงค์ชัย ยิ่งศักดิ์มงคล แพทย์ศัลยกรรมทั่วไป ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และหัวหน้าโครงการวิจัยเรื่องวิธีใหม่ในการรักษาแผลที่เท้าในผู้ป่วยโรคเบา หวาน เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย ที่พัทยา จ.ชลบุรี ได้นำเสนองานวิจัยในโครงการวิจัย เพื่อหาแนวทางใหม่ในการรักษาแผลที่เท้าผู้ป่วยเบาหวาน โดยการใช้ยา "อิมมูโนไคน์" (IMMUNOKINE) หรือ WF 10 มาใช้รักษาผู้ป่วยเบาหวานไม่ต้องถูกตัดนิ้วเท้า ตัดเท้าหรือตัดขาได้สำเร็จ ถือเป็นการวิจัยโดยใช้ยาอิมมูโนไคน์รักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นครั้งแรกของโลก เพราะยังไม่เคยมีประเทศใดทำมาก่อน แม้แต่ประเทศเยอรมนีซึ่งเป็นผู้ผลิตยาชนิดนี้ และเร็วๆ นี้ งานวิจัยดังกล่าวจะได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ

              ผศ.นพ.ณรงค์ชัย กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคเบาหวานมากถึง 4 ล้านคน หากผู้ป่วยเป็นโรคเบาหวานนานๆ จะเกิดภาวะแทรกซ้อน จะเกิดการตีบตันของเส้นเลือดแดง เป็นสาเหตุให้ปลายประสาทเสื่อม ส่งผลให้เกิดอาการชาที่ปลายเท้า ปลายมือ อาการชาที่ปลายเท้าและปลายมือ เมื่อเกิดอุบัติเหตุไปเหยียบหรือไปแตะสิ่งของ ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกตัว แม้เกิดบาดแผลก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองมีแผล อีกทั้งเส้นเลือดที่ตีบไปเลี้ยงปลายเท้าปลายมือได้น้อยลง ทำให้อวัยวะส่วนนั้นได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ส่วนภูมิคุ้มกันร่างกายที่เป็นเซลล์เม็ดเลือดขาว ทำหน้าที่ต่อสู้เชื้อโรค คอยเก็บกินเชื้อโรค และเนื้อที่ตายแล้ว ก็ไม่สามารถทำงานได้เต็มศักยภาพ

              "ภาวะเช่นนี้จะเกิดกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เกิดอาการอักเสบ เป็นแผลลามไปเรื่อยๆ มีเนื้อตาย เป็นหนองและลาม รักษายากมาก ผู้ป่วยจำนวนมากรักษาแผลเป็นปีๆ ก็ยังไม่หาย สุดท้ายต้องตัดนิ้วเท้า นิ้วมือ และถ้าแผลลามไปเรื่อยๆ ก็ต้องตัดไปเรื่อยๆ แต่ละปีในไทย มีผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องตัดนิ้วมือ ตัดมือ ตัดแขน ตัดนิ้วเท้า ตัดเท้า และตัดขา เกือบ 4 หมื่นคน รวมทั่วโลกปีละเกือบ 1 ล้านคน อีกทั้ง ผู้ที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานจากทั่วโลกจะกลัว และวิตกกับภาวะแทรกซ้อนอย่างมาก" ผศ.นพ.ณรงค์ชัย กล่าว

              ผศ.นพ.ณรงค์ชัย กล่าวต่อว่า จากความทุกข์ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทำให้คิดโครงการวิจัย เพื่อหาแนวทางใหม่ในการรักษาแผลที่เท้า โดยทดลองกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน 100 คน พบว่าได้ผลดี โดยใช้ยาอิมมูโนไคน์ผสมในน้ำเกลือ ฉีดเข้าสู่เส้นเลือดภายใน 4-6 ชั่วโมง โดยฉีดวันละครั้ง ติดต่อกัน 1 คอร์ส ซึ่งใช้เวลา 5 วัน จากนั้นจะดูผลประมาณ 1 สัปดาห์ ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ก็ให้ยาเป็นคอร์สที่ 2 อาการจะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยบางรายใช้ยาคอร์สเดียวจะมีอาการดีขึ้น บางรายอาจต้องใช้ถึง 2 คอร์ส อาการดีขึ้นของผู้ป่วยจะเริ่มจากภาวการณ์อักเสบดีขึ้น ภาวะเนื้อที่ตายเริ่มดีขึ้น มีเนื้อที่งอกขึ้นใหม่เพิ่มขึ้น จุดเด่นของการให้ยาอิมมูโนไคน์ ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเป็นแผลเรื้อรัง เมื่อให้ยาผู้ป่วยไปสู่เนื้อเยื่อ ตัวยาจะแตกตัวเป็นออกซิเจน ไปกระตุ้นเม็ดเลือดขาวที่อยู่บริเวณบาดแผลให้เริ่มเข็งแรงขึ้น เมื่อเม็ดเลือดขาวบริเวณแผลแข็งแรงขึ้น จะเก็บกินเชื้อโรค และเนื้อที่ตาย ทำให้แผลเริ่มหายจากอาการอักเสบติดเชื้อ มีอาการดีขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ตัวยาดังกล่าวยังไปกระตุ้นเซลล์ที่สร้างหลอดเลือด และกระตุ้นเซลล์ที่สร้างเนื้อเยื่อ แผลที่ลึกๆ จะตื้นขึ้น มีเนื้อแดงงอกขึ้นมาใหม่ และแผลจะค่อยๆ หายภายใน 2 เดือน

              "เรานำยาตัวนี้เข้ามาจากเยอรมนี หลายคนอาจกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายที่ผู้ป่วยต้องเดินทางไปทำแผลทุกวัน เป็นเดือน เป็นปี ล้วนแล้วแต่เป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น นี่ไม่นับการซื้อยาชนิดอื่นๆ มารักษา ถ้าอาการไม่ดีขึ้น แพทย์จะตัดสินใจตัดอวัยวะส่วนที่เป็นแผลออก ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไข้กลัว และมีความทุกข์มาก แต่ถ้ารักษาโดยให้ยาอิมมูโนไคน์ ผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่าย 2 หมื่นบาทต่อ 1 คอร์ส ส่วนผลข้างเคียงเมื่อใช้อาจมีภาวะเลือดจางบ้างเล็กน้อย" ผศ.นพ.ณรงค์กล่าว

              ผศ.นพ.ณรงค์ กล่าวด้วยว่า งานวิจัยเกี่ยวกับวิธีรักษาเผลเรื้อรังของผู้ป่วยโรคเบาหวานโดยใช้ยาอิมมูโน ไคน์ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกของโลก เพราะยังไม่เคยมีใคร และประเทศใดทำมาก่อน เพราะโดยปกติจะใช้ในผู้ป่วยที่เกิดอาการอักเสบเรื้อรังในผู้ที่ป่วยด้วยโรค มะเร็ง และฉายแสง ปัจจุบันมีการนำตัวยาตัวนี้ไปใช้ร่วมกับเคมีบำบัดในการรักษาผู้ป่วยที่เป็น โรคมะเร็งตับอ่อน และมะเร็งต่อมลูกหมาก ส่วนการนำมาใช้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเป็นแผลเรื้อรังนั้น ยังไม่มีใครทำ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สนใจ และต้องการรักษาด้วยวิธีใช้ยาดังกล่าว ติดต่อที่ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โทร.0-3739-5085-6 ต่อ 11215

      ข้อมูลจาก http://health.kapook.com/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น